ฤๅสื่อที่เป็นกลาง ไม่เคยมีอยู่จริง

•กันยายน 15, 2008 • ให้ความเห็น

ช่วงนี้เหตุการณ์บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนถ่ายโครงสร้างทางการเมืองและสังคมครั้งใหญ่ ผมเชื่อว่าหลายๆ เรื่องดำเนินเดินทางมาำไกลเกินกว่าจะย้อนกลับไปตั้งต้นกันใหม่ อย่างที่หลายๆ ฝ่ายพยายามเรียกร้องหรืออยากให้เป็น

มีคำถามว่าเหตุการณ์ในขณะนี้ดูจะก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่สงบสุขในบ้านเมืองหรือไม่ ผมมองว่าขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจจะปล่อยให้เกิดหรือไม่ให้เกิด ส่วนตัวแล้วผมเชื่อว่าลำพังแค่การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลอย่างปรกติ ก็ไม่น่าจะนำพาความวุ่นวายใดๆ มาเกิดขึ้น แต่ถ้าจะเกิดขึ้นก็เพราะมีคนตั้งใจจะให้เกิด ด้วยเหตุผลเพื่อประโยชน์ของใครหรือกลุ่มใดแค่นั้นเอง

ท่ามกลางความขัดแย้งของประชาชนในบ้านเมืองที่แบ่งกันเป็นหลายขั้ว (ในมุมมองของผม ไม่ได้มีแค่ 2 ขั้วคือ ขั้วเอาทักษิณ กับขั้วไ่ม่เอาทักษิณ แต่ยังมีขั้วที่ไม่เอาอะไรเลย ขอให้ตัวเองอยู่รอดเป็นพอ และขั้วที่ไม่เคยกล้าตัดสินใจอะไรในชีวิตสักอย่าง ซึ่งสองขั้วหลังนี้บางทีชอบเรียกตัวเองว่า “เป็นกลาง”) ถามว่า กลุ่มบุคคลที่มักจะเรียกตัวเองว่า สื่อมวลชนนั้น ได้ทำอะไรให้สังคมทุกวันนี้ดีขึ้นบ้าง หรือชี้ทางให้สัีงคมเดินหน้าไปในแนวทางที่ถูำกต้องบ้าง

ผมไม่อยากจะบอกว่า แทบจะไม่มีเพราะจะดูเป็นการกล่าวหากันเกินไป ในสื่อประเภทสิ่งพิมพ์นั้นหลายๆ ฉบับเรียกว่า ทำหน้าที่ได้ดีในระดับหนึ่ง มีนำเสนอข่าวที่รอบด้าน รวมถึงบทวิเคราะห์ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในขณะที่สื่อโทรทัศน์ทำหน้าที่เพียงนำเสนอเรื่องราวอย่างฉาบฉวยไปแบบวันต่อวัน ส่วนสื่อวิทยุนั้นเรียกได้ว่าล้มเหลวโดยสิ่้นเชิง เพราะทุกวันนี้เป็นสื่อโฆษณาชวนเชื่อไปเต็มตัว

แต่วันนี้ผมขออนุญาตเจาะลึกถึงสื่อโทรทัศน์โดยตรง เพราะเป็นสื่อที่มีอิทธิพลต่อผู้รับสารมากที่สุดในขณะนี้

ปรากฎการณ์ที่ถือว่า เป็นบททดสอบวิชาชีพสื่อมวลชนครั้งสำคัญของสื่อโทรทัศน์ก็คือ วันที่กลุ่มพันธมิตรฯ บุกยึดสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) เป็นวันที่กลุ่มพันธมิตรฯ เพลี่ยงพล้ำจนทำให้ภาพลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมดูแย่ไปมากจากสายตาของคนภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแพร่ภาพกลุ่มผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งบุกเข้าไปทำลายข้าวของ และบังคับให้พนักงานเอ็นบีทีหยุดการทำงาน ภาพดังกล่าวถูกออกอากาศไปยังสถานีโทรทัศน์ทุกช่อง เพราะมันคือสีสันชั้นดีในการนำเสนอข่าวทางโทรทัศน์ ในขณะที่เอ็นบีทีเืมื่อกลับมาตั้งหลักและออกอากาศใหม่ได้อีกครั้ง ก็มีการแพร่ภาพชุดดังกล่าวซ้ำไปซ้ำมาตลอดแทบจะทั้งวัน รวมถึงวันต่อมา

หากผู้ชมที่ไม่ได้รับข่าวสารจากสื่ออื่นๆ หรือด้านอื่นๆ ย่อมตัดสินใจเชื่อในสิ่งที่เห็นได้ทันทีโดยมิอาจชั่งน้ำหนักของข่าวสารข้อมูลที่ได้รับให้ครบถ้วนเสียก่อนถึงที่มาที่ไป เหตุและผลของเรื่องราวก็เป็นได้ หลังเหตุการณ์ดังกล่าวอดีตนายกฯ สมัคร ประกาศกร้าวออกมาให้สื่อมวลชนลือกข้าง ซึ่งนับว่าเป็นคำประกาศที่ห้าวหาญและเชื่อมั่นในตัวเองเสียเหลือเกิน หากเกิดสื่อเลือกอีกข้างที่ไม่ใช่ข้างเดียวกับรัฐบาลกันทั้งหมดคงดูไม่จืดจริงๆ

แต่ในความเป็นจริง อดีตนายกฯ สมัครไม่ต้้องบอกให้สื่อเลือกข้างแต่ประการใดเลย เพราะในทางพฤตินัยทุกวันนี้สื่อนั้นได้เลือกข้างไปแล้วอย่างชัดเจน (ส่วนจะเลือกข้างหรือขั้วไหนนั้นโปรดพิจารณากันเอาเอง) แม้จะมีตัวแทนสื่อบางกลุ่มออกมาปกป้องตัวเองว่า สื่อมวลชนนั้นต้องทำหน้าที่อย่างเป็นกลางก็ตามที แต่ก็เป็นเพียงคำพูดที่สวยหรูตามหลักวิชาการเท่านั้น แต่้ในทางปฏิับัติก็ไม่เคยมีความเป็นกลางอยู่จริงในวงการสื่อมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

ถ้าหากความเป็นกลาง หมายถึง การนำเสนอข่าวทั้งสองด้านสองฝ่่ายสองฝั่งหรือสองขั้ว เพียงเท่านี้ยังไม่พอ เพราะต่อให้นำเสนอเนื้อหาของแต่ละฝ่ายด้วยจำนวนเวลาที่เท่ากัน ก็ไม่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นการนำเสนออย่างเป็นกลางอย่างแท้จริง 

แล้วอะไรที่ความเป็นกลางที่แท้จริง?

ตามหลักเรขาคณิต เราอาจจะหาจุดกึ่งกลางของวงกลมได้ จุดกึ่งกลางของพื้นที่รูปทรงต่างๆ ได้ แต่ในสังคมมนุษย์เราคงจะหาจุดกึ่งกลางในการดำเนินชีวิตร่วมกันได้ไม่ง่ายนัก แต่มิใช่จะทำไม่ได้เลย ในทางศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าบอกเอาไว้ว่า ให้เดินสายกลาง ซึ่งในที่นี้น่าจะหมายถึง การประคองชีวิตให้อยู่ในความดี ไ่ม่เอนเอียงไปในทางที่ชั่วร้าย เพราะความเป็นกลางระหว่างความดีกับความชั่วคงไม่มี ความเป็นกลางที่แท้จริงจึงน่าจะหมายถึงการประพฤติตนให้อยู่ในความดี และดำรงความถูกต้อง

สังคมทุกวันนี้ที่วุ่นวายเพราะคนชอบความชั่ว ไม่กลัวบาป และไม่อายที่จะทำสิ่งผิดๆ นั่นเอง

สื่อมวลชนทางโทรทัศน์ทุกวันนี้มีความเป็นกลางหรือไม่ลองถามตัวเองดู พอเสียทีเ้ถอะกลับการนำเสนอข่าวแบบฉาบฉวย เน้นสีสัน ให้ข้อมูลแบบผิวเผินไม่รอบด้าน ทำแต่ข่าวเกาะกระแสไปวันๆ ไม่มีข่าวเชิงลึกเพื่อให้ข้อมูลกับผู้รับชมในสิ่งที่ถูกต้อง ทำไมไม่มีสื่อโทรทัศน์ติดตามข่าวเรื่องปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา ให้เข้าใจถึงประเด็นผลกระทบของการเสียดินแดนที่ไม่ใช่เพียงบริเวณเขาพระวิหาร แต่กำลังจะลามไปตลอดแนวชายแดน ทำไมไม่มีสื่อโทรทัศน์ตามข่าวเรื่องการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ที่ถูกกกต.ตัดสินให้ยุบพรรคไปแล้ว แต่เรื่องกับไปดองอยู่ที่อัยการสูงสุดไม่ยอมส่งต่อไปยังศาลเสียที หรือทำไมไม่มีใครไปตามข่าวเรื่องการยึดคืนพาสปอร์ตเล่มสีแดงจากอดีตนายกฯ ทักษิณ ซึ่งกลายเป็นผู้ต้องหาหนีคดีไปแล้วเสียที

หรือสื่อมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องความผิด ไม่ใช่เรื่องความไม่ถูกต้องชอบธรรม เป็นสิ่งปรกติในสังคมไทยที่ยอมรับความชั่วร้ายของผู้ที่ิมีอำนาจปกครองบ้านเมืองได้

หรือว่า บางทีสื่อเองอาจจะไม่รู้ว่า อะไรคือผิดอะไรคือถูก

หรือที่แท้ ความเป็นกลางของสื่อ ก็คือความไม่รู้นั่นเอง

5 วิธีต้อน ‘หมัก’ ให้จนมุม

•พฤษภาคม 7, 2008 • 1 ความเห็น

ภายหลังจากที่นายกฯ สมัครตัดสินใจยกเลิกให้สัมภาษณ์สื่อทุกวันอังคารและวันศุกร์ ซึ่งแต่เดิมเคยเป็นวันพบสื่อประจำสัปดาห์ โดยอ้างเหตุผลว่า มีผู้ใหญ่ขอร้องให้พูดน้อยลง เพราะพูดมากเสียทีมักหลุดพูดไม่เข้าหูชาวบ้าน ดูเหมือนว่าช่วงนี้มลพิษทางหูของผมจะลดลงไปมากทีเดียว

ไม่รู้ว่านายกฯ จะหยุดให้สัมภาษณ์สื่อไปอีกนานเท่าไหร่ แต่ผมอย่าบอกว่า ยิ่งนายกฯ ท่านนี้พูดน้อยเท่าไหร่ยิ่งดี เปลี่ยนไปเป็นทำงานให้มากๆ แทน

ที่ผ่านมาในมุมมองของคุณสมัครที่มีต่อนักข่าว มักจะเป็นมุมมองในด้านลบ เพราะชอบมองว่าสื่อเป็นพวกจับผิด และชอบมองตนในแง่ร้าย ทั้งๆ ที่นักข่าวเขามองในแง่ที่มันเป็นจริงต่างหาก ตราบใดที่นักข่าวถามคำถามที่สมัครไม่อยากตอบ ตราบนั้นนักข่าวก็ยังเป็นผู้ร้ายในสายตาของเขาเสมอ

จะเห็นว่าหลายๆ ครั้งที่นักการเมืองเฒ่าและแก่ประสบการณ์อย่างเขา จะมีวิธีเลี่ยงตอบคำถามนักข่าวได้อย่างแนบเนียนเมื่อเจอคำถามที่เขาไม่อยากตอบ และหลายๆ ครั้งที่นักข่าวโยนคำถามออกไปกลับได้คำถามกลับมาแทน จนมีบางคนเคยพูดเอาไว้ว่า “ถามสมัครมักจะได้คำถามเป็นคำตอบ” เช่น นักข่าวถาม “ตกลงท่านจะยืนยันได้มั้ยว่า ไม่ใช่นอมินีทักษิณ” สมัครตอบ “เมื่อคืนคุณไปเสพเมถุนกับใครมา” เจอลูกนี้เข้าเล่นเอาวงแทบแตก

ในสมัยที่ผมยังเป็นนักข่าว เวลาเจอแหล่งข่าวที่ยังไม่พร้อมจะตอบคำถามที่เราถาม เขาก็มักจะมีวิธีที่จะหลีกเลี่ยงที่จะตอบได้หลากหลายรูปแบบ เช่น บอกตรงๆ ว่า เรื่องนี้ผมไม่ตอบ, เรื่องนี้ผมไม่มีความคิดเห็น หรือเรื่องนี้ยังไม่ได้รับรายงาน ที่อดีตนายกฯ ท่านหนึ่งชอบใช้ ก็เป็นวิธีตอบปฏิเสธที่ได้ผลดี แม้จะดูว่าไม่ค่อยมีความรับผิดชอบบ้างก็ตาม อย่างไรก็ตามการตอบปฏิเสธของแหล่งข่าวส่วนใหญ่ที่กล่าวมา ก็นับว่าฟังดูดีกว่าคำตอบปฏิเสธที่หลุดจากปากนายกฯ คนปัจจุบันหลายเท่า

แต่นักข่าวเป็นอาชีพที่ต้องหาข่าวมาเขียน ถ้าแหล่งข่าวไม่ให้สัมภาษณ์แล้วจะเอาอะไรไปเขียน จะเขียนว่านายกฯ ยังคงปฏิเสธการให้สัมภาษณ์ไปทุกวันๆ ก็ใช่ที่ แต่ผมเชื่อคนอย่างนายสมัครคงสงบปากสงบคำได้ไม่นาน อีกสักพักก็คงกลับมาเปิดปากให้สัมภาษณ์นักข่าวเหมือนเดิม แต่นักข่าวจะได้คำตอบที่เป็นประเด็นไปเขียนข่าวได้หรือไม่นั้น งานนี้เห็นทีต้องมาฝึกวิทยายุทธ์เพิ่มเติมกันหน่อย

สำหรับนักข่าวที่อยู่ในพื้นที่ และรู้จักมักคุ้นกับผู้นำประเทศคนนี้ดี ผมเชื่อว่าพวกเขาคงมีวิธีต่อกรกับสมัครได้เป็นอย่างดี แต่สำหรับบุคคลทั่วไปที่คิดว่า ถ้ามีโอกาสได้ไปตั้งคำถามสัมภาษณ์ท่านสมัครและอยากให้ท่านตอบคำถามของคุณได้อย่างที่คุณต้องการ ผมขออนุญาตนำเสนอ 5 วิธีต้อน ‘หมัก’ ให้จนมุม ดังนี้

1. ตาต่อตาฟันต่อฟัน วิธีนี้อาจจะดุเดือดเลือดพล่านและดูก้าวร้าวไปสักหน่อยสำหรับสังคมไทย แต่ก็ไม่เลวนัก ในเมื่อผู้นำประเทศยังทำตัวทรามๆ ได้ นักข่าวก็ควรตอบโต้ไปในสิ่งเดียวกัน เพื่อให้อีกผ่ายได้รับรู้ความรู้สึกแบบเดียวกันบ้าง และเป็นการปรามวิธีปฏิบัติของเขาที่มีต่อเราไปในตัว วิธีนี้มีนักข่าวอาวุโสท่านหนึ่งเคยใช้ เล่นเอาสมัครหน้าบูดไปได้เหมือนกัน

2. ดื้อตาใส พูดง่ายๆ ก็คือพยายามถามจี้ในประเด็นที่ตัวเองต้องการ โดยไม่ต้องไปสนใจสิ่งที่สมัครกำลังจะเบี่ยงเบน หรือโยนคำถามใหม่กลับมาที่เรา จงตั้งสมาธิให้มั่น แล้วมุ่งพุ่งเป้าไปที่คำตอบที่ตรงกับคำถามเท่านั้น ถ้าไม่ตอบในครั้งแรก ก็พยายามกระเหี้ยนกระหือรือถามย้ำไปเรื่อยๆ ให้มันรู้ไปว่าระหว่างนักข่าวกับสมัครใครจะแพ้ก่อนกัน

3. หลอกล่อให้ตายใจ เมื่อเจอสมัครตอบไม่ตรงคำถาม และพยายามเปลี่ยนเรื่องไปเป็นเรื่องใหม่ ให้เราตามเกมไปก่อน หรือเปลี่ยนประเด็นให้เขาตอบในสิ่งที่เขาอยากตอบไป เช่น ชวนคุยเรื่องอาหาร ชวนคุยเรื่องแมว พอสมัครเริ่มเคลิ้มๆหรือเพลินๆ ก็ค่อยวกกลับมาที่ประเด็นเดิมของเรา บางทีอาจจะอารมณ์ดีขึ้นแล้วกลับมาตอบคำถามเราได้โดยไม่รู้ตัว

4. ความรู้ท่วมหัวเอาตัวให้รอด นายกฯ สมัครมักชอบอ้างเรื่องข้อมูลที่ตัวเองมีมาข่มนักข่าวให้เชื่อในสิ่งที่เขาพูด ดังนั้นถ้าจะสู้กันให้สมน้ำสมเนื้อ เราต้องมั่นใจในข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะถามให้ครอบคลุมทุกด้าน เวลาเจอคำถามย้อนกลับจะได้ตั้งรับได้ทัน ดังนั้นต้องทำการบ้านให้เยอะๆ กับเรื่องที่จะถาม ไม่งั้นอาจเสียท่าเฒ่าสารพัดพิษได้ง่ายๆ

5. ถ้าทำทุกวิธีข้างต้นแล้วยังไม่ได้ผล ก็ต้องใช้ไม้ตายสุดท้ายก็คือ ให้ไปเอาญาติเมียของสมัครมาเป็นนักข่าวเสียเลยให้รู้แล้วรู้รอดมันซะเลย ลองเจอนักข่าวที่เป็นญาติสนิทของเมียมาถามคำถาม รับรองถามอะไรก็ได้คำตอบแน่ๆ เพราะงานนี้สมัครจะไม่เกรงใจเมียก็ให้มันรู้ไป ฮ่า…

 

๑๐. ชีวิตการทำข่าวที่อินโดฯ

•เมษายน 5, 2008 • ให้ความเห็น

ภารกิจประจำวันในช่วงที่ไปทำข่าวที่ประเทศอินโดนีเซียก็คือ การโทรศัพท์เข้าไปรายงานข่าวบรรยากาศการประชุมเอเปกโดยทั่วๆ ไปในช่วงเช้า รวมถึงการแจ้งกำหนดการประชุม และหัวข้อที่น่าจะมีการหยิบยกขึ้นมาพูดในที่ประชุมในแต่ละวัน โดยการประชุมจะแบ่งเป็น ๓ ระดับคือ ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี และระดับผู้นำสูงสุด

การประชุมเอเปกนั้น ธีมหลักของการหารือจะมุ่งเน้นไปในเรื่องความร่วมมือทางการค้า ส่งเสริมการค้าและลดอุปสรรคทางการค้า โดยในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส (ผู้อำนวยการกอง, อธิบดีกรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปจนถึงปลัดกระทรวง) ซึ่งเป็นระดับปฏิบัติการจะประชุมกันก่อน เพื่อหาข้อสรุปร่วมกันแล้วจึงชงเรื่องต่อไปยังที่ประชุมระดับรัฐมนตรีเพื่อพิจารณากันต่อไป

ชีวิตของผมในช่วงนั้นก็จะวนเวียนอยู่แค่โรงแรมซึ่งเป็นที่พัก กับศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ (ประมาณศูนย์แห่งชาติสิริกิติ์) ที่ใช้เป็นที่จัดการประชุมในครั้งนี้ โดยทุกๆ ชั่วโมงของวันจะต้องมีการรายงานข่าวกับไปทางกรุงเทพฯ เสมอ

หลังจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเริ่มต้น ผมก็เริ่มเห็นนักข่าวเมืองไทยจากค่ายต่างๆ เดินทางมาร่วมทำข่าวกันมากขึ้น มีมาหมดทั้งจากวิทยุ โทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ นักข่าวไทยที่ไปรายงานข่าวประชุมเอเปกในครั้งนั้นน่าจะมีร่วมๆ ๓๐ ชีวิต เป็นยุคนั้นเป็นยุคที่ธุรกิจสื่อเริ่มบูมอย่างเต็มตัว เรียกว่าเป็นกองทัพนักข่าวไทยบุกอินโดนีเซียก็ว่าได้ เพราะมีจำนวนมากกว่าประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

ในกลุ่มนักข่าวไทยนั้นส่วนใหญ่จะค่อนข้างรู้จักกันดี เพราะทำงานหาข่าวในแวดวงเดียวกันมาก่อน ส่วนผมเองค่อนข้างจะเป็นน้องใหม่ของวงการในตอนนั้น เรียกว่ายังแทบจะไม่รู้เพื่อนนักข่าวคนไหนเลย โชคดีอีกครั้งที่มีพี่ปุ๊มาเป็นเพื่อน ซึ่งพี่ปุ๊แกก็พอจะรู้จักกับเพื่อนนักข่าวสำนักอื่นๆ บ้าง เลยพากันเข้ากลุ่มไปไหนมาไหนด้วยกันได้หลังเลิกงาน

ในขณะที่ผมเริ่มต้นสานสัมพันธ์ใหม่ๆ กับเพื่อนนักข่าวไทยด้วยกัน ระหว่างนั้นก็ได้มีโอกาสรู้จักเพื่อนนักข่าวต่างประเทศไม่น้อย ค่าที่ว่านี่เป็นการประชุมระดับนานาชาติ ดังนั้นก็เลยต้องมีนักข่าวจากนานาชาติตามมาทำข่าวด้วยเช่นกัน มีทั้งแขก ฝรั่ง ญี่ปุ่น และจีน หนึ่งในนั้นมีนักข่าวสาวจากไต้หวันชื่อ โจเซฟฟิน เป็นเพื่อนนักข่าวต่างชาติที่ผมค่อนข้างคุยดัวยบ่อย

ช่วงนั้นจะได้ฝึกปรือภาษาอังกฤษค่อนข้างมาก ความที่ว่าอยากจะคุยกับหมวยจีนก็ต้องสื่อสารด้วยภาษากลางอย่างภาษาอังกฤษอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จำไม่ได้ว่าโจเซฟฟินมาขอความช่วยเหลือผมอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องข่าว แต่ที่แน่ๆ เธอเป็นคนเปิดฉากคุยกับผมก่อน (โอ้ย! สมัยนั้นผมยังจีบสาวไม่ค่อยเป็นหรอก) การทำงานในพื้นที่จำกัดและพบเจอกับคนหน้าเดิมๆ เป็นประจำทุกวัน ทำให้คนเราสนิทกันได้เร็วขึ้น อันนี้ผมหมายรวมถึงความสัมพันธ์กับเพื่อนนักข่าวไทยด้วยกันก็พัฒนารุดหน้าไปมาก จากคนแปลกหน้าผมก็เริ่มกลายเป็นนักข่าวที่มีตัวตนในวงการขึ้นมาแล้ว

แต่หนึ่งในเพื่อนนักข่าวต่างชาติที่ผม โดยเฉพาะอย่างยิ่งพี่ปุ๊คงจะไม่ลืมไปชั่วชีวิต คงจะหนีไม่พ้นนักข่าวหนุ่มเจ้าบ้านจากอินโดนีเซีย ที่เป็นทั้งเจ้าบ้านที่แสนดีและน่ารำคาญในบางเวลา เพราะเจ้าหมอนี่ดันมาขายขนมจีบกับพี่ปุ๊ได้ทุกครั้งที่มีโอกาส ในขณะที่ผมต้องถูกขอร้องให้กลายเป็นไม้กันหมาไปอย่างช่วยไม่ได้ จะว่าไปแล้วนิสัยของเพื่อนชาวอิเหนารายนี้ก็ไม่ได้แย่เสียทีเดียว เพียงแต่บุคลิกภายนอกดูน่ากลัวไปหน่อยสำหรัยคนไทย เนื่องจากชายชาวอินโดฯ ส่วนใหญ่จะชอบไว้หนวดเฟิ้ม แถมผิวตัวสีคล้ำ เห็นแว่บแรกแล้วพาลให้ชวนคิดถึงผู้ร้ายในหนังไทยสมัยโบราณได้ไม่ยาก บุคลิกแบบนี้ถามผู้หญิงไทย ๑๐ คนว่าใช่สเปคหรือเปล่า ผมว่า ๙ คนครึ่งต้องบอกว่าไม่เอา นั่นทำให้ผมเลยมีโอกาสได้ใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น เพราะบ่อยครั้งต้องรับหน้าเพื่อนอินโดฯ รายนี้แทนพี่ปุ๊

วันหนึ่งเจ้าเพื่อนอินโดฯ รายนี้ก็เดินเข้ามาหาผมระหว่างนั่งคุยอยู่กับกลุ่มเพื่อนนักข่าวไทย แล้วเกิดตั้งคำถามด้วยความสงสัยขึ้นมาว่า ที่ผมนั่งคุยอยู่นี่เป็นเพื่อนคนไทยหมดเลยหรือ? ผมตอบกลับไปว่า ใช่ เจ้าเพื่อนอินโดฯ ถึงกลับประหลาดใจจนเห็นได้ชัดแล้วพูดออกมาว่า “Thailand has many faces” เขาไม่ได้ว่าคนไทยไม่จริงใจ มีหลายหน้าแต่ประการใด แต่เขากำลังแปลกใจว่า ทำไมประเทศไทยถึงมีคนไทยที่มีรูปร่างหน้าตาแตกต่างกันมากมายถึงขนาดนี้

มันก็จริงของเขา อย่างตัวผมเองเวลาแนะนำตัวกับเพื่อนต่างชาติว่าเป็นคนไทย ก็เล่นเอางงกันถ้วนทั่ว เพราะหน้าตาออกไปทางจีนมากกว่า ในขณะที่เพื่อนนักข่าวไทยคนอื่นๆ ก็มีจะทั้งตี๋ หมวย มีแบบที่คล้ำๆ หนักไปกว่านั้นในชุดนั้นดันมีน้องนักข่าวอีกคนหนึ่งเป็นลูกครึ่งฝรั่ง แถมพูดไทยปร๋อ อีแบบนี้ชาวต่างชาติที่ไหนก็คงงงเหมือนกันว่า สรุปแล้วแบบไหนแน่ที่เป็นรูปลักษณ์ของคนไทย หรือคนทั้งโลกนี้ก็คือคนไทย เพราะหน้าตาคยไทยมันออกแนวสหประชาชาติเหลือเกิน

มีพี่นักข่าวคนหนึ่งเคยบอกวิธีสังเกตว่าใครเป็นนักข่าวไทย เวลาไปอยู่เมืองนอก ให้ดูที่พฤติกรรมง่ายๆ สองอย่างก็คือ๑. ชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม กับ๒. ชอบนั่งตามบันไดทางเดิน ผมฟังแล้วต้องบอกว่าใช่เลยนี่แหละนักข่าวเมืองไทยเป็นแบบนี้จริงๆ ผมเองยังเป็น

อย่างไรก็ตาม ผมสนุกสนานและตื่นตาตื่นใจกับการมาทำข่าวในต่างประเทศอยู่แค่ ๓ วัน หลังจากนั้นอาการฟองฟูในจิตใจต่างๆ ก็ค่อยๆ เริ่มลดลง ในขณะที่ความรู้สึกคิดถึงบ้านเริ่มก่อตัวขึ้นทีละเล็กละน้อย

1 ประเทศ 3 นายกฯ

•กุมภาพันธ์ 29, 2008 • ให้ความเห็น

ประเทศนี้มีอะไรแปลกๆ

ประเทศเดียวในโลกที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
โดยมีนายกรัฐมนตรี 3 คน

คนแรกมาจากจากลากตั้ง เอ้ย เลือกตั้ง
แต่ดันยอมรับว่า เป็นนายกฯ นอมินี ให้คนอื่น

คนที่สองเป็น นายกฯ ตัวจริง
เพราะเป็นคนออกเงิน และสามารถสั่งการคนในรัฐบาลได้
โดยไม่ต้องลงเลือกตั้ง

คนที่สามเป็น นายกรัฐมนตรีเงา
ตำแหน่งที่อุปโลกน์ขึ้นมาเอง ไม่มีในรัฐธรรมนูญ
และไม่มีประโยชน์ที่จะต้องตั้งขึ้นมา
นัยว่า แค่แก้อกหักเพราะไม่ได้เป็นนายกฯ จริงๆ

ประชาชนที่อยู่ในประเทศที่ถูกปกครองด้วยนายกฯ 3 คน  คงสนุกน่าดู
ชะเอิงเอย

อะไรกันนี่!!!

•มกราคม 30, 2008 • 3 ความเห็น

อยากจะอุทานดังๆ กับสถานการณ์ในตอนนี้ว่า “อะไรกันนี่ (วะ)”
เหตุเพราะเรามีประธานสภา – ที่โกงเลือกตั้ง
มีนายกฯ – ที่มีคดีติดตัว แถมปากเสีย
มีมท.1 – เป็นคนที่ไม่น่าเชื่อถือ แถมชอบป้องลูกที่เป็นนักเลง
มีรมว.คลัง – ที่เป็นหมอ และไม่เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจ
มีรมว.ต่างประเทศ – เป็นทนายหัวหมอ ปกป้องแต่ผลประโยชน์ลูกพี่
มีรมว.แรงงาน – เป็นไดโนเสาร์ไร้สัจจะ
มีรมว.เกษตรฯ – เป็นหุ่นเชิดของนักกอบโกย

 เศร้าว่ะ

ทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด

•มกราคม 23, 2008 • 3 ความเห็น

“พี่ๆ ดูข่าวยัง” เสียงปลายสายฟังดูตื่นเต้นจนจับได้
“ข่าวอะไรเหรอ” ผมตอบโดยหนีบโทรศัพท์ไว้ในซอกคอ ขณะที่นิ้วยังร่ายอยู่บนคีย์บอร์ดเพื่อพิมพ์งาน
“ก็เรื่องละครสงครามนางฟ้าไง ตกลงการบินไทยเขายอมยกโทษให้แล้วอ่ะ ทำไมมันจบเหมือนที่พูดเมื่อคืนเลย”
ผมละมือจากคีย์บอร์ดชั่วคราว เปลี่ยนมาจับโทรศัพท์ให้มั่นเพื่อฟังเธอร่ายยาวเป็นชุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ และแทบไม่แปลกใจที่ผลสุดท้ายเรื่องราวความขัดแย้งเรื่องนี้จะจบแบบที่ผมคาดการณ์
“ทีซื้อหวย ไม่เห็นเคยถูกแบบนี้เลย” ผมประชดตัวเองแบบขำๆ กลับไป

เพียงแค่ข้ามวันมาไม่กี่ชั่วโมง สิ่งที่ผมคุยกับคุณน้องเธอก็กลายเป็นจริงราวกับตาเห็น
“ถามจริง พี่เป็นคนเขียนสคริปต์เรื่องนี้เปล่าเนี่ย” เธอยังอดประหลาดใจในสิ่งที่ผมวิเคราะห์ไม่ได้

อยากที่รู้ๆ กันสำหรับคนที่ติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นประจำ นอกจากข่าวการเมืองที่น้ำเน่าวนเวียนซ้ำซากไม่ต่างจากอดีตแล้ว ข่าวในวงการบันเทิงก็เป็นอีกประเภทหนึ่งที่ถูกหยิบยกมานำเสนอเป็นอันดับต้นๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์และหน้าจอทีวี โดยข่าวบันเทิงที่ฮอตฮิตเป็น ทอล์คออฟเดอะทาวน์ ในช่วงวันสองวันนี้ก็เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง “การประท้วงของพนักงานการบินไทยที่มีต่อละครเรื่อง สงครามนางฟ้า” และมีข้อเรียกร้องอันหนักหน่วงให้ถึงขั้นระงับการออกอากาศ

ประเด็นความขัดแย้งแรงๆ อย่างนี้แหละที่สื่อสมัยนี้ชอบเล่นกันนัก โดยเฉพาะสื่อที่มุ่งเน้นการข่าวแบบตามกระแสรายวัน หนังสือพิมพ์ก็ประโคมข่าวขึ้นถึงหน้าหนึ่ง รายการข่าวทีวีก็ให้ลำดับความสำคัญในการนำเสนอเป็นอันดับต้นๆ ตามเว็บบอร์ดต่างๆ กันถกเถียงในเรื่องนี้กันอย่างออกรส และกลายเป็นกระทู้ฮอตเพียงชั่วเวลาพริบตา

แต่สิ่งที่ผมได้ตั้งข้อสังเกตให้กับคุณน้องเธอ เมื่อเธอมาชวนผมคุยในเรื่องนี้ตามประสาคนตามข่าวของเธอ และรู้ว่าผมเคยทำงานสื่อมาก่อนเลยมาขอความคิดเห็นเรื่องข่าวกับผมเป็นประจำสม่ำเสมอก็คือ เป็นไปได้ไหมที่สองฝ่ายที่กำลังขัดแย้งกันในตอนนี้แท้จริงแล้วตั้งใจสร้างเรื่องแบบนี้ขึ้นมา โดยสิ่งที่เห็นอยู่ในข่าวก็คือละครอีกฉากหนึ่งที่คนดูเองถูกหลอกให้ดูโดยไม่รู้ตัว

หลักการทำงานของนักข่าวอย่างหนึ่งที่ได้รับการสั่งสอนกันมาก็คือ จงอย่าเชื่ออะไรง่ายๆ เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นมาก็ตาม ให้ตั้งข้อสงสัยเอาไว้ก่อนว่า ไม่น่าจะเป็นจริงอย่างที่เราเห็น พูดง่ายๆ นักข่าวมีหน้าที่จับผิดเหตุการณ์ หรือคนในเหตุการณ์ เพราะสื่อต้องนำเสนอความจริง ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ไม่ใช่แค่รายงานข่าวไปตามที่เห็น เพราะถ้าสื่อทำหน้าที่ได้แค่นั้น มันก็ไม่ต่างอะไรกับเป็นพีอาร์ให้กับบุคคลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งในฐานะกระบอกเสียงของเขาเพียงเท่านั้น

ข่าวความขัดแย้งของเอ็กแซคท์ในฐานะผู้ทำละครสงครามนางฟ้ากับตัวแทนสหภาพพนักงานการบินไทย มีจุดที่น่าสงสัยอยู่จุดหนึ่งในความรู้สึกของผมก็คือ เรื่องการขู่ถอนโฆษณาทั้งหมดของการบินไทยออกจากรายการของเอ็กแซคท์ ซึ่งถ้ามองกันอย่างผิวเผินคนทั่วไปอาจจะไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ด้วยสันดานเอ้ย สัญชาตญาณของสื่อเก่าอย่างผมกลับมองว่า จุดนี้แหละที่มีกลิ่นทะแม่งๆ

ผมไม่ได้มองว่า ประเด็นความขัดแย้งนี้จะทำให้เอ็กซ์แซคท์กำลังจะเสียผลประโยชน์จากการบินไทย แต่ผมกลับมองในอีกแง่หนึ่งว่า จริงๆ แล้วสองฝ่ายนี้เขามีผลประโยชน์ร่วมกันมาตั้งแต่แรกอยู่แล้วต่างหาก ในเชิงธุรกิจการลงโฆษณาทางทีวีก็เพราะอยากให้คนเห็นมากๆ ส่วนในแง่ของผู้ผลิตรายการทีวีก็ย่อมอยากให้สปอนเซอร์ที่มาลง ได้รับความคุ้มค่ามากที่สุดกลับไป เพราะถ้ารายการดังหรือละครดังทำไมสปอนเซอร์จะไม่แฮปปี้

ดังนั้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มันคือสถานการณ์ที่ภาษาทางธุรกิจเขาเรียก Win-Win Situation ก็คือได้ทั้งคู่ โดยสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดล้วนเป็นการเซ็ตอัพขึ้นมา อันเป็นส่วนหนึ่งในแผนการตลาดที่(อาจจะ)ถูกวางไว้เพื่อโปรโมตละครตั้งแต่แรกเสียด้วยซ้ำ เป็นละครนอกจอที่สร้างขึ้นมาเพื่อโปรโมตละครในจอ

ถามว่า พวกเขากล้าเล่นกันแบบนี้เชียวหรือ เพราะนี่มันเข้าขั้นแหกตาประชาชนทั้งประเทศ คำตอบคือผมเองก็ไม่อยากจะเชื่อว่า พวกเขาจะกล้าทำกันหรอกครับ แต่สมัยนี้ Dark Side Marketing มันกลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้ว ในยุคนี้เงินคือทุกสิ่งทุกอย่าง ยิ่งมาลองนึกย้อนๆ กลับไปดูเหตุการณ์เมื่อไม่นานมานี้ โดยเฉพาะในวงการบันเทิง หรือที่บางทีก็เรียกว่า วงการมายา มันก็เคยเห็นการโปรโมตแบบชั่วร้ายเช่นนี้มาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณีน้องสาหร่าย ที่อยากดังเลยแต่งตัวโป๊ๆ ไปงานแจกรางวัล หรือกรณีน้องแนนจอมลวงโลก ที่โกหกได้ทุกอย่างเพียงเพื่อต้องการโปรโมตให้หนังสือตัวเอง

ดังนั้นไม่แปลกถ้าวงการมายาจะเกิดเหตุการณ์โปรโมตอะไร ในแนวที่คาดไม่ถึงขึ้นมาอีกก็ได้ โดยที่คนดูไม่รู้ว่า อะไรจริงอะไรลวง เพราะสมัยนี้คนที่ทำธุรกิจบันเทิงเขาฉลาดมากขึ้นในการสร้างชื่อให้กับสินค้าตัวเองโดยไม่ได้สนใจว่า เป็นชื่อเสียงด้านลบหรือด้านบวก แต่ขอให้เป็นข่าว ขอให้มีคนพูดถึงเอาไว้ก่อนเป็นพอ แล้วทีนี้ลองมาย้อนดูสิว่า เหตุการณ์ในช่วงวันสองวันนี้ สื่อรวมถึงผู้เสพสื่อ เราล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ที่พวกเขากำหนดไว้แล้วหรืออยากให้เป็นหรือไม่ เราได้กลายเป็นเครื่องมือให้พวกเขาอีกครั้งแล้วหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ผมได้สรุปให้คุณน้องเธอว่า สิ่งที่ผมคิด มันเป็นเพียงการคิดในแง่ร้ายตามประสานักข่าวเก่าของผม เพราะผมคิดว่าผมยังมีวิญญาณนักข่าวหลงเหลืออยู่บ้าง อย่างน้อยผมไม่ใช่แมสเซนเจอร์ ที่แค่เอาไมค์จ่อปากแหล่งข่าว หรือถ่ายรูปถ่ายวีดิโอแล้วเอากลับมาออกอากาศ โดยที่ไม่คิดจะสืบหาความจริงให้รอบด้านก่อนนำเสนอข่าวใดๆ

ส่วนเรื่องที่ผมคิดนี้จะมีมูลหรือไม่ ผมบอกเธอว่า ลองดูตอนจบของเรื่องนี้เอาละกัน ถ้ามันจบแบบง่ายดายและรวดเร็ว ก็ชวนให้น่าสงสัยไม่น้อย เพราะถ้าทั้งสองฝ่ายสมรู้ร่วมคิดกันจริงๆ ก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะปล่อยให้เรื่องนี้ยืดเยื้อ เนื่องจากถ้าเนิ่นนานไป จะหมดมุกในการเลี้ยงกระแสให้เป็นข่าว และก็จะหาที่จบลำบาก ในเมื่อทั้งสองฝ่ายสมประสงค์ในความต้องการที่แค่จะโปรโมตละครให้ดัง สร้างข่าวให้เป็นกระแส แล้วคนจะได้ติดตามละคร มันก็เพียงพอแล้ว ผมก็คิดไว้แค่นั้นเอง

ไม่น่าเชื่อที่สิ่งที่ผมคิด มันดันเป็นจริง แถมจบเร็วเกินคาด เมื่อฝ่ายหนึ่งแค่ขอโทษ อีกฝ่ายหนึ่งเลยให้อภัยซะอย่างนั้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ออกมาเรียกร้องโวยวายจะเป็นจะตายกันเสียให้ได้

นี่แหละวงการมายา
เอวัง ด้วยประการแลฉะนี้

หมายเหตุ – บทความนี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานส่วนตัวของผู้เขียน ไม่ใช่ข้อเท็จจริงใดๆ ของเหตุการณ์ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน

บ้านเมืองนี้ เฮ้อออออ

•มกราคม 14, 2008 • 2 ความเห็น

เสียงนกเสียงกาขอประกาศว่า นับแต่นี้ต่อไปจะไม่ไปเลือกตั้งส.ส. อีกแล้ว
จนกว่าไอ้พวกหัวหงอกที่เวียนว่ายอยู่ในวงการการเมืองขณะนี้จะตายไปจากโลก

นักข่าวบันเทิงกับศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพ

•ธันวาคม 6, 2007 • ให้ความเห็น

มีน้องคนหนึ่งมาถามผมว่า พี่คิดยังไงเรื่องนักข่าวบันเทิงออกมาโวยเรื่องงานแต่งภราดรกับนาตาลี ที่เจ้าภาพไม่ให้เข้าไปทำข่าวภายในงาน ผมได้แต่ตอบไปว่า ไม่คิดยังไงหรอก ถ้าเจ้าภาพไม่ให้เข้าก็ไม่เข้า ก็เท่านั้น ไม่เห็นต้องโวยวายอะไร แต่ถ้าอยากได้ข่าวอยากได้ภาพจริงๆ ก็หาวิธีอื่นเอาสิ ไม่เห็นต้องมาโวยวายเลยว่า ไม่ให้เกียรตินักข่าว เห็นนักข่าวเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์อย่างเดียว ยิ่งคำสัมภาษณ์ของท่านนายกสมาคมนักข่าวบันเทิงฟังแล้วยิ่งตลกใหญ่ เธอว่าถ้าใครไม่อยากให้ไปทำข่าวก็ให้บอกมา ฟังดูทะแม่งๆ เพราะถ้าเจ้าภาพอยากจัดงานแบบส่วนตัว ไม่อยากให้มีนักข่าวมาวุ่นวายแล้วเขาจะต้องไปบอกสื่อหามีดพร้าทำไม

ประเด็นคือ ทุกวันนี้นักข่าวบันเทิงเคยสำรวจตัวเองหรือไม่ว่า คุณทำอาชีพอะไรกันอยู่แน่ เกียรติยศและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพยังมีอยู่หรือไม่ ไปทำข่าวดาราแต่งงานถ้าเจ้าภาพเขาดูแลไม่ดี ไม่จัดห้องหับเป็นที่เป็นทางให้นั่งรอ ก็ไม่ต้องไปโทษเจ้าภาพ หรือถ้าจะพูดจะบ่นในเรื่องนี้ก็บ่นกันเอง ไม่ต้องบ่นให้เป็นข่าวเป็นเรื่องเป็นราว เพราะมองในแง่คนทำงานสื่อแล้วคุณก็ไม่จัดอยู่ในฐานะแขกร่วมงาน เพราะคุณไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่เพื่อน กับเจ้าบ่าวเจ้าสาว คุณเป็นแค่สื่อ เจ้าภาพเชิญคุณก็เชิญในฐานะสื่อ ไม่ใช่ญาติเพื่อนฝูง เขาจะต้อนรับขับสู้คุณแค่ไหนก็แค่นั้น ต้องเข้าใจในฐานะตัวเองก่อน

แต่เรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ถ้าสื่อบันเทิงควรจะสำรวจตัวเองบ้างว่า ภาพลักษณ์ที่คนในวงการบันเทิงเขามองคุณนั้นเป็นอย่างไร แน่นอนล่ะว่าการที่ดารา นักร้อง ผู้จัดละคร พิธีกร หรือคนที่ทำงานในวงการบันเทิงเขา (ดูเหมือน) จะพินอบพิเทาเอาอกเอาใจคุณ ก็เพียงอยากให้คุณไปทำข่าวประชาสัมพันธ์ให้เขา เขารู้ว่าถ้าเอาใจสื่อดีๆ เลี้ยงดูต้อนรับขับสู้ดีๆ สื่อก็จะได้เขียนถึงดีๆ ถ้ามองกันอย่างเป็นกลางแบบนี้เรียกว่าซื้อสื่อทางอ้อมได้หรือไม่ นักข่าวอาจจะบอกว่า ฉันมีจุดยืนของฉันเอง ฉันรายงานข่าวด้วยความเป็นกลาง ไปงานแถลงข่าวที่ไหนถึงเจ้าภาพเขาจะดูแลดีอย่างไร ฉันก็จะเขียนข่าวด้วยความเป็นกลางที่สุด ถ้าคิดได้เช่นนี้ก็ดี แต่จะมีสักกี่คนที่เป็นเช่นนี้ เพราะโดยพื้นฐานนิสัยคนไทยนั้นเป็นคนที่เกรงใจ ถ้าเจ้าภาพดูแลดีก็อดไม่ได้ที่จะต้องเขียนข่าวถึงเขาในแง่ดีบ้างสักเล็กน้อยเป็นการตอบแทน

ปัญหาคือ นักข่าวบันเทิงนั้นได้รับการปฏิบัติเช่นนี้มาตลอดเวลา จัดงานแถลงข่าวในโรงแรมหรือที่จัดเลี้ยง มีของว่างเลี้ยงเล็กๆ น้อยๆ บางงานอาจจะมีของพรีเมียมมาแจก แหม! ทำงานก็สบายอยู่ในที่เย็นๆ มีของกิน ได้ของใช้นิดๆ หน่อยๆ แถมมี press kit แจกมาให้มีพร้อมทุกอย่างทั้งข่าวทั้งรูปภาพ อะไรก็ง่ายไปหมด แทบไม่ต้องทำข่าวเองเลย พูดง่ายๆ ก็คือถูกสปอยล์มาตลอดเวลา พอบ่อยๆ เข้าก็เลยนึกว่าเป็นมาตรฐานของตัวเองเวลาออกไปทำข่าวงานไหนก็ตามต้องได้รับหรือพบเจอสิ่งเหล่านี้เป็นปรกติ ถ้างานไหนไม่ได้ตามมาตรฐานข้างต้นนี้ ก็อาจจะสร้างความไม่พอใจให้แก่นักข่าวได้

กรณีงานแต่งภราดร-นาตาลี พอเจ้าภาพเขาดูแลต่ำกว่ามาตรฐานของตัวเองก็ไม่พอใจ แถมดูเหมือนจะไม่ค่อยแคร์นักข่าวเสียด้วยซ้ำ ยิ่งทำให้นักข่าวรู้สึกว่าตัวเองต่ำต้อยด้อยค่า ไม่ให้เกียรติเหมือนโดนดูถูก ไปนั่งที่ล็อบบี้โรงแรมก็โดนไล่ แต่นักข่าวบันเทิงไม่เคยตั้งคำถามตรวจสอบตัวเองว่า แล้วมันเป็นเพราะสาเหตุใดพวกเขาจึงได้รับการปฏิบัติเยี่ยงนี้ บางทีนักข่าวก็ควรจะเจียมเนื้อเจียมตัวบ้าง ไม่ใช่คิดว่าดำรงอาชีพสื่อสารมวลชนแล้วจะต้องมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นไปทุกเรื่อง

จะว่าไปแล้วเรื่องการเข้าไปทำข่าวงานแต่งภราดร-นาตาลีไม่ได้ ไม่ควรจะเป็นปัญหาที่จะต้องมาโวยวายเอาเป็นเอาตาย เพราะทางแก้ปัญหาในเรื่องนี้มันไม่ได้ยากเย็นเพียงแต่เข้าใจว่า กระบวนการสรรหาข่าวหรือวิธีให้ได้มาซึ่งข่าวของนักข่าวบันเทิงนั้นได้ถูกลดทอนหรือเหือดหายไปตามกาลเวลา อันเหตุเพราะการถูกสปอยล์จากผู้จัดงานทั้งหลายดังที่กล่าวมาข้างต้น เพราะนักข่าวไม่ได้คิดเตรียมที่จะมาหาข่าวตั้งแต่ออกจากบ้าน แต่ตั้งใจมารับการป้อน “ข่าวสำเร็จรูป” จากผู้ให้ข่าวแต่อย่างเดียว เมื่อมาเจอเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิดว่าจะเจอเหมือนเช่นเคยได้รับ ก็ใบ้เบื้อทำงานไม่เป็น พาลไปโกรธนอกเรื่องนอกราวกับเจ้าภาพเสียอย่างนั้น ทั้งๆ ที่คิดให้ดีๆ แล้วไม่มีสิทธิไปว่าเขาเลย

ทำไมนักข่าวสายอื่นๆ สายการเมือง สายอาชญากรรม เขายังทำข่าวส่งต้นสังกัดกันได้ทุกวัน โดยไม่เห็นต้องออกมาโวยวายผ่านสื่อ (ด้วยกัน) ว่า นักการเมือง หรือตำรวจสน.นั้น สน.นี้ต้อนรับไม่ดี นักข่าวสายเหล่านี้ถูกกีดกันจากแหล่งข่าวไม่ให้เขาไปข่าวมากกว่าสายบันเทิงด้วยซ้ำ แต่ทำไมเขายังหาข่าวมาจนได้ บางทีถ้าให้นักข่าวอาชญากรรมไปทำข่าวงานแต่งภราดร-นาตาลี เผลอๆ อาจจะได้ข่าวมาตั้งแต่ก่อน 3 ทุ่ม ไม่ต้องมัวมานั่งรอให้เจ้าภาพไรท์ซีดีรูปแจกตอนดึกๆ ดื่นๆ เหมือนที่นักข่าวบันเทิงมาโวยๆ กัน

มันไม่ยากหรอกครับ ถ้าจะเข้าไปงานแต่งใครสักคน งานระดับนี้แขกเป็นร้อยเป็นพัน เจ้าภาพจำได้ไม่หมดอยู่แล้ว เป็นนักข่าวมันต้องรู้จักวิธีซิกแซกเพื่อเข้าไปหาข่าวให้ได้สิ มันถึงจะเจ๋งจริง ไม่ใช่นั่งงอมืองอเท้า เอาทั้งปากจริงและปากกาทำงานด้วยการด่าเขาอย่างเดียว ความเป็นมืออาชีพของนักข่าวเขาวัดกันที่ต้องหาข่าวมาลงให้ได้ในขณะที่คนอื่นๆ ทำไม่ได้ ยิ่งได้มาคนเดียวยิ่งเจ๋ง นี่แหละถึงจะเรียกว่านักข่าวมืออาชีพตัวจริง

ส่วนนักข่าวบันเทิงยุคนี้ ลองสำรวจตัวเองหน่อยก็ดีว่า คุณยังเป็นนักข่าวที่แท้จริงอยู่ไหม เคยใช้วิธีทำข่าวอะไรแบบนี้บ้างไหม ถ้าทำไม่ได้ก็อยู่แบบเดิมไปนั่นแหละ แต่ขอร้องอย่าโวยวายถ้ามีเรื่องทำนองเช่นนี้เกิดขึ้นอีก เพราะศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพมันแทบจะไม่เหลือแล้ว

อายแทนน่ะ

๙. ครั้งหนึ่งกับความประทับใจที่มีต่อท่านทูตไทยประจำอินโดนีเซีย

•ตุลาคม 22, 2007 • ให้ความเห็น

และแล้วการเดินทางไปทำข่าวต่างประเทศเป็นครั้งแรกของผมก็เริ่มต้นขึ้น โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

สำหรับนักข่าวหน้าใหม่ตัวเล็กๆ ที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการสนามข่าวมากนัก การได้เดินทางไปทำข่าวต่างประเทศครั้งแรกช่างเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นจริงๆ แต่นับว่าโชคดีที่ผมได้พี่ปุ๊ บ.ก.ข่าวเศรษฐกิจ มาเป็นพี่เลี้ยงในการทำงานครั้งนี้ เพราะแกไม่ได้เป็นแค่พี่เลี้ยงให้ผม แต่ยังเป็นเพื่อนร่วมงานที่มีคอนเนกชั่นกับแหล่งข่าวมากมาย โดยเฉพาะแหล่งข่าวสายเศรษฐกิจ

วันแรกที่เหยียบแผ่นดินชวาเป็นที่เรียบร้อย ผมกับพี่ปุ๊ ก็เริ่มลงมือวางแผนการทำงานทันที ด้วยตระหนักว่าการเดินทางมาต่างประเทศในครั้งนี้ไม่ได้มาเที่ยว แต่เรามาทำงาน และเป็นการทำงานที่ค่อนข้างหนักเอามากๆ อย่างแรกก็คือเราจำเป็นต้องมีข่าวส่งทุกต้นชั่วโมง รวมถึงสกู๊ปรายงานพิเศษอีก ๑ เรื่องต่อวัน

ผมกับพี่ปุ๊ ถือเป็นนักข่าวไทยคู่แรกที่มาถึงอินโดนีเซียเพื่อทำข่าวการประชุมเอเปก เท่าที่ทราบก็คือนักข่าวไทยจากที่อื่นๆ จะเริ่มทยอยตามหลังเรามาอีก ๑-๒ วัน พี่ปุ๊บอกว่าเมื่อมาถึงต่างบ้านต่างเมืองแบบนี้ แหล่งข่าวคนไทยคนแรกที่เราควรจะไปคุยด้วยจะเป็นใครไม่เสียไม่ได้นอกจาก “ท่านเอกอัครราชทูตไทย ประจำอินโดนีเซีย”ซึ่งในขณะนั้นคือ คุณกษิต ภิรมย์

อ่านต่อ ‘๙. ครั้งหนึ่งกับความประทับใจที่มีต่อท่านทูตไทยประจำอินโดนีเซีย’